โครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) ตามแนวพระราชดำริ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
หลักการและเหตุผล
พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของประเทศไทย ถูกบุกรุกทำลายลงอย่างรวดเร็ว จากสาเหตุของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับการเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการที่ดินเพิ่มขึ้น เพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพื่อการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรตอบสนองความต้องการของตลาด สภาวการณ์พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารลดลงอย่างมากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะฝนแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เหมือนเช่นเดิม ทำให้เกิดน้ำไหลหลากฉับพลันในฤดูฝน อันเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรงและดินถล่ม เกิดการตกตะกอนสะสมในแม่น้ำลำธาร ทำให้ตื้นเขินเก็บกักน้ำได้น้อยลง และปริมาณน้ำที่บ่าท่วมจะไหลทะลักเข้าทำลายเรือกสวนไร่นา ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎรเสียหายเป็นอย่างมาก เหตุการณ์เหล่านี้ทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นมากขึ้นเป็นลำดับ ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็เช่นเดียวกัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาพและจำนวนเนื้อที่ของป่าต้นน้ำลำธารได้ถูกบุกรุกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งสภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ไม่ต่างกับบนแผ่นดินใหญ่แต่อย่างใด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวอย่างยิ่งนัก โดยเฉพาะป่าไม้เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมาก ทรงตระหนักถึงความอยู่รอดของป่าไม้ที่มีตัวแปรสำคัญคือ “น้ำ” อันเป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้ และได้ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ให้ได้ผลดี คือทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือฝายแม้ว หรือที่เรียกว่า “Check Dam” หรืออาจจะเรียกว่า ฝาย
ชะลอความชุ่มชื้นก็ได้
พระ ราชดำรัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ. อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน “…สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้น ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณน้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก…”
ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เกาะสมุยต้องเผชิญปัญหาน้ำไหลหลากจากบนเขา ลงมาท่วมถนนที่ใช้สัญจรเป็นเส้นหลัก รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคในปี 2553 นี้ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติบนป่าเขามีไม่เพียงพอต่อการนำมาผลิตน้ำประปา และไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรมในเกาะสมุย ทั้งนี้เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเงินลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างงานให้กับประชาชนหลากหลายอาชีพทุกระดับชั้น หากเกาะสมุยขาดแคลนน้ำแล้ว ความเสียหายต่อประเทศและส่วนรวมจะมากมายจนไม่อาจประเมินค่าได้
และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทุ่มเทต่องานด้านป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรของพระองค์มาเป็นเวลาช้านาน มูลนิธิเกาะสีเขียว (GREEN ISLAND FOUNDATOIN) จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าวข้างต้น โดยจัดสร้างและสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำของเกาะสมุย จำนวน 1,985 ฝาย
วัตถุประสงค์
- เพื่อชะลอการไหลและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำธาร เพิ่มโอกาสให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดิน เติมปริมาณน้ำใต้ดินมากขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นการกรองสารเคมีหรืออนุมูลอิสระที่ใช้ในการเกษตรก่อนที่จะไหลหลากลงสู่ลำธาร ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้น้ำที่อยู่ท้ายน้ำ
- เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดการพังทลายของดิน และสามารถกักเก็บตะกอนดิน หิน หรือซากพืชที่ไหลลงมากับน้ำในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งจะช่วยยืดอายุของแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง
- เพื่อกักเก็บน้ำไว้บนพื้นที่สูง เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคของมนุษย์ สัตว์ป่าและเกษตรกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของน้ำใต้ดินของผู้ใช้ที่อยู่ด้านล่าง
- เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริให้ต่อเนื่องในด้านการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร เป็นการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทให้เป็นที่ประจักษ์ ยังความชุ่มชื้นให้แผ่นดินอย่างยั่งยืน สืบไป
เป้าหมาย
ดำเนินการจัดสร้างฝายต้นน้ำโดยแบ่งเป็น 2 ระยะ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและเป็นการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ระยะที่ 1 จัดสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 1800 ฝาย
ระยะที่ 2 จัดสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ถาวร และถาวรขนาดใหญ่ รวมจำนวน 185 ฝาย
พื้นที่ดำเนินการ
- ดำเนินการในพื้นที่ต้นน้ำของเกาะสมุยทั้งหมด 11 คลอง
การดำเนินการ
- ประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและประชาชน เข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้มีส่วนร่วมในโครงการ ซึ่งจะสามารถขยายผลการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำของเกาะ สมุย ส่งผลต่อการประกอบการและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวสมุยโดยรวม เป็นการสานต่อแนวพระราชดำริและร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ในระยะที่ 1 จำนวน 1,800 ฝาย และประเมินผลโครงการ
- ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ถาวร และถาวรขนาดใหญ่ ในระยะที่ 2 จำนวน 185 ฝาย และประเมินผลโครงการ
งบประมาณ
- งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ฝายละ 5,000 บาท จำนวน 1,800 ฝาย เป็นเงิน 9,000,000 บาท
- งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างระยะ ที่ 2 ฝายแบบกึ่งถาวร ถาวร และ ถาวรขนาดใหญ่ ฝายละ 25,000/50,000/100,000 บาท ตามลำดับ รวมจำนวน 185 ฝาย รวมเป็นเงิน 7,450,000 บาท
- งบประมาณการบริหารจัดการ,การประชาสัมพันธ์ ติดตามและประเมินผลโครงการ จำนวน 2,500,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 18,950,000 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ลดการชะล้างพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำธาร ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้น และกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำธาร เพิ่มปริมาณของน้ำใต้ดิน
- กักเก็บตะกอนและวัสดุต่างๆที่ไหลลงมากับน้ำในลำธาร ช่วยทำให้ลำน้ำตื้นเขินช้าลง คุณภาพน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง
- เพิ่มความหลากหลายทางชีวะภาพ และมีการทดแทนของสังคมพืชให้แก่พื้นที่โดยรอบ
- เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า
- เพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการอุปโภคบริโภครวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเกาะสมุย
- ป้องกันการเกิดไฟป่า
- ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ของการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ พร้อมร่วมสานต่อแนวพระปณิธาน ยังความชุ่มชื้นให้แผ่นดินสืบไป
ที่มาของข้อมูล
- จุดดำเนินการก่อสร้างตามแผนงาน คำนวณจากแผนที่กรมแผนที่ทหารโดยใช้โปรแกรม Arcview ส่วนการก่อสร้างจริงและการใช้จ่ายงบประมาณต่อจุด จะต้องดูสภาพพื้นที่และวัสดุที่ใช้จริงอีกครั้งหนึ่ง
- รูปแบบการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานมี 2 รูปแบบคือ แบบเรียงหินก่อในกรณีที่ลำธารมีก้อนหินธรรมชาติ และแบบกระสอบบรรจุดินปูน 1: 8 กรณีลำธารไม่มีหินตามธรรมชาติ
- ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อหน่วย(จุดฝาย) อ้างอิงประมาณการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช